ตำนานพญานาค

       
       

                                                     ตำนานพญานาค

  • พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น
  • พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฏเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
  • พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน
  • พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพเทวาอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อน ๆ กัน ชั้นสูง ๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์
  • พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขั้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น

    จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาค เป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี         

 

ตํานาน ประวัติ องค์ท้าวพญามุจลินท์นาคราช

ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้จิก อันมีนามว่า "มุจลินท์" อันตั้งอยู่ในทิศบูรพาหรือทิศอาคเนย์ แห่งไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่นั้นอีก ๗ วัน มุจลินท์นาคราชในกาลนั้นฝนตกพรำตลอด ๗ วัน พญานาคมีนามว่า "มุจลินท์นาคราช" มีอานุภาพมาก อยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์พฤกษ์นั้น มีความเลื่อมใสในพระศิริวิลาศพร้อมด้วยพระรัศมีโอภาสอันงามล่วงล้ำเทพยดาทั้งหลายจึงเข้าไปใกล้แล้วขดเข้าซึ่งขนดกายแวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้๗ รอบ และแผ่พังพานอันใหญ่ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝนถูกต้องพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า 
                  ครั้งล่วง ๗ วัน ฝนหายขาดแล้ว พญานาคก็คลายขนดจำแลงกายเป็นมานพ เข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาว่า "ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง"

              ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จออกจากร่มไม้มุจลินท์ ไปยังร่มไม้เกตุ อันมีนามว่า "ราชายตนะ" อันอยู่ในทิศทักษิณ แห่งต้นมหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุขณที่นั้นสิ้น๗วันเเป็นอวสานในกาลนั้นท้าวสักกะอมรินทราธิราช ทรงดำริว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยพระกระยาหารนับแต่กาลตรัสรู้มาได้๔๙วันแล้วจึงได้เสด็จลงมาจากเทวโลกน้อมผลสมออันเป็นทิพยโอสถเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผลสมอเสวย แล้วทรงสรีระกิจลงพระบังคม ทรงสำราญพระกายแล้ว เสด็จเข้าประทับยังร่มไม้ราชายตนะพฤกษ์นั้น

พญาศรีสัตตนาคราช

พญาศรีสัตตนาคราช นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล เป็นใหญ่เหนือพญานาคทั้งปวง เป็นพญานาคที่ทรงฤทธิ์ ทรงอำนาจ มีความเด่นสง่าด้วยมี 7 เศียร ซึ่งถือได้ว่าเป็นตระกูลพญานาคที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล มีความใกล้ชิดพระพุทธองค์ และพระพุทธศาสนา จนอาจถือว่าเป็นต้นตระกูลแห่งพญานาคทั้งหมด ผู้ใดที่บูชาและศรัทธาในพญานาคท่านจะช่วยดลบันดาลให้ผ่านพ้นอันตรายจากภัยพิบัตินาๆ ประการได้

ตามคำบอกเล่าของ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย จังหวัดนครพนม กล่าวว่า ทางฝั่งไทยและฝั่งลาวต่างมี กษัตริย์แห่งนาคราช หรือ นาคาธิบดี แยกปกครองดูแล

ฝั่งลาว คือ พญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคฝั่งลาว เป็นพญานาคเจ็ดเศียร

ฝั่งไทย คือ พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย เป็นพญานาคหนึ่งเศียร

พญาศรีสุทโธ  ท่านชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบมาปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้เหล่าพญานาค 6 อำมาตย์ดูแลแทน ในระหว่างที่หลบมาจำศีลภาวนา 
 

        หลวงปู่เอ่ยชื่อ 6 อำมาตย์แห่งพญานาคไว้เพียง 3 คือ

1. พญาจิตรนาคราช เป็นพญานาคที่รักสวยรักงาม มีเขตแดนปกครองของตน  ตั้งแต่ตาลีฟู ถึงจังหวัดหนองคาย ตามแนวแม่น้ำโขง โดยมีที่สุดแดนอยู่วัดหินหมากเป้ง

2. พญาโสมนาคราช มีเขตแดนปกครอง ตั้งแต่วัดหินหมากเป้ง มาจนถึงวัดพระธาตุพนม สุดเขตแดนที่แก่งกะเบา พญาโสมนาคราช มีอุปนิสัยคล้ายพญาศรีสุทโธนาคราช คือชอบปฏิบัติธรรม จึงเป็นที่ไว้วางใจ และโปรดปรานแก่พญาศรีสุทโธนาคราชมากกว่าพญานาคอื่น ๆ

3. พญาชัยยะนาคราช มีเขตแดนจากแก่งกะเบา เรื่อยไปจนสุดแดนที่ปากแม่น้ำโขงลงทะเลในเขมร พญานาคตนนี้มีฤทธิ์เดชมาก ชอบการรณรงค์ทำสงคราม คือชอบการต่อสู้เป็นนิสัย

พญาศรีสัตตนาคราช เป็นใหญ่เหนือพญานาคทั้งปวงในฝั่งลาว เป็นพญานาคที่ทรงฤทธิ์ ท่านเป็นพญานาคที่ชอบจำศีลและประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนพญาศรีสุทโธนาคราช โดยชอบมาที่วัดพระธาตุพนมเหมือนกัน

หลวงปู่คำพันธ์ยังได้กล่าวอีกว่า ส่วนใดที่อยู่ใกล้ต้นน้ำลำธาร หรือหากมี

พิธีกรรมอันใดเกิดขึ้น ให้อัญเชิญบอกกล่าวแก่เหล่าพญานาค พิธีกรรมนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

 

 

ขอขอบคุณที่มา

http://www.school.net.th/schoolnet/article/articles_member_read.php?article_id=312

ใส่ความเห็น